วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหรียญ 5 บาทนิวซีรีส์...แม่ค้าไม่คุ้น




คมชัดลึก : นับตั้งแต่กรมธนารักษ์ทยอยนำเหรียญชุดใหม่ (เหรียญนิวซีรีส์) ออกมาใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยปรับปรุงใหม่ทั้งเหรียญ 1บาท 2 บาท 5 บาท และ 10 บาท ปรากฏว่าประชาชนยังสับสน หลายคนไม่กล้าใช้คิดว่าเป็นเหรียญปลอม โดยเฉพาะเหรียญ 5 บาท ที่มีขนาดบางและเบาลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ ยังไม่สามารถนำไปหยอดในตู้ซื้อสินค้าบางชนิดได้ เช่น ตู้น้ำอัดลม ตู้ซื้อตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส ฯลฯ 
"วรรณา ยินดียั่งยืน" ผอ.ส่วนวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เล่าว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นมา กรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญนิวซีรีส์ หรือเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนรุ่นใหม่ออกมาใช้ ขณะนี้ในตลาดมีครบทุกเหรียญแล้ว แต่ปริมาณไม่เท่ากัน แบ่งเป็นเหรียญ 25 สตางค์ 25 ล้านเหรียญ 50 สตางค์ 29 ล้านเหรียญ 1 บาท 19 ล้านเหรียญ 2 บาท 241 ล้านเหรียญ 5 บาท 229 ล้านเหรียญ และ 10 บาท 10 ล้านเหรียญ สำหรับสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนรูปโฉมผลิตเหรียญ 2 บาทใหม่ และผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดก็เพราะที่ผ่านมาประชาชนสับสนระหว่างเหรียญ 2 บาทกับ 1 บาท เนื่องจากมีสีเงินและขนาดใกล้เคียงกันมาก กรมธนารักษ์จึงพยายามเรียกเก็บเหรียญ 2 บาทเดิม แล้วผลิตเหรียญ 2 บาทใหม่สีเหลืองทองออกมาใช้แทน

 "ตอนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเหรียญ 2 บาทแล้ว เพราะเปลี่ยนสีไปเลย จากสีเงินที่มีส่วนประกอบโลหะนิกเกิลชุบเคลือบไส้เหล็กมาเป็นอะลูมิเนียม บรอนซ์ ทำให้มีสีเหลืองทอง เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าเดิม แต่น้ำหนักลดลงจาก 4.4 กรัม เป็น 4.0 กรัม พอเปลี่ยนสีให้แตกต่างจากเหรียญ 1 บาทแล้ว ชาวบ้านก็ชอบ" วรรณา กล่าว

 อย่างไรก็ดี สำหรับเหรียญ 5 บาทใหม่กลับพบว่า กรมธนารักษ์ได้รับการร้องเรียนเข้ามามาก เนื่องจากน้ำหนัดลดลงทำให้เหรียญบาง ไม่หนาเหมือนเดิม จนมีข่าวลือในแถบภาคใต้ว่าเป็นเหรียญปลอม เวลาซื้อของพ่อค้าแม่ค้าไม่ยอมรับ ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงพยายามชี้แจงว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิต ใช้วัสดุเหมือนเดิมคือคิวโปรสอดไส้ทองแดง เพียงแต่เหรียญ 5 บาทซีรีส์ใหม่จะมีน้ำหนักแค่ 6.0 กรัม ต่างจากรุ่นเก่าที่หนัก 7.5 กรัม ส่วนเรื่องการหยอดตู้อัตโนมัติไม่ได้นั้น กรมธนารักษ์ได้ประสานผู้ผลิตตู้ให้เร่งปรับเครื่องรองรับเหรียญรุ่นใหม่แล้ว

 ส่วนเหรียญ 1 บาทใหม่จะแตกต่างจากเดิมคือ น้ำหนักน้อยกว่า 0.4 กรัม และเปลี่ยนจากเนื้อโลหะคิวโปรนิกเกิลเป็นนิกเกิลชุบเคลือบไส้เหล็ก ผอ.ส่วนวางแผนพัฒนาฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า เพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเหรียญ 1 บาทชุดเดิม มีต้นทุนการผลิตเกือบ 2 บาทต่อเหรียญ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล ที่ระบุให้มูลค่าวัสดุที่ใช้ผลิตเหรียญกษาปณ์แต่ละชนิด ไม่ควรเกินร้อยละ 40 ของราคาเหรียญ เช่น เหรียญ 1 บาท ต้องใช้มูลค่าโลหะที่ผลิตไม่เกิน 40 สตางค์ เป็นการป้องกันคนเอาเหรียญไปหลอมละลายทำเป็นสินค้าอย่างอื่น

 ทั้งนี้ เหรียญนิวซีรีส์ทุกรุ่นได้เปลี่ยนแปลงพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงด้วย โดยเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบพระชนมายุปัจจุบันมากขึ้น เพราะเหรียญชุดเดิมใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ส่วนลวดลายด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญยังคงเหมือนเดิม เพียงแค่ปรับปรุงให้สวยงามคมชัดมากขึ้น

 "ขอให้ประชาชนอย่าเก็บสะสมเหรียญไว้ในบ้าน หากอยากออมเงินให้มาแลกเป็นธนบัตรไปเก็บ เพราะกรมธนารักษ์ต้องผลิตเหรียญใหม่ออกมาใช้แทนเหรียญเก่าที่หายไปจากตลาด การผลิตเหรียญโลหะเป็นการใช้ต้นทุนสิ่งแวดล้อมสูง ทั้งกระบวนการขุดเจาะหาแหล่งแร่โลหะ การถลุงโลหะ การหลอมโลหะ ฯลฯ ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น และประเทศไทยต้องซื้อเหรียญจากผู้ผลิตในต่างประเทศ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ถ้าทุกคนนำเหรียญเก่ามาหมุนเวียนใช้อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ต้องผลิตเหรียญใหม่ ไม่ต้องขุดวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้มากเกินความจำเป็น ถือว่าช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมทางอ้อม" ผอ.ส่วนวางแผนพัฒนาฯ กล่าว

 ด้าน "จิราวุธ ตันตระกูล" ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาของการใช้เหรียญซีรีส์ใหม่คือเรื่องน้ำหนัก เพราะตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติจะรับเหรียญโดยคำนวณจากเส้นผ่าศูนย์กลางและ น้ำหนัก หากผิดไปจากที่ตั้งโปรแกรมไว้ก็จะหล่นออกมา ส่วนตัวเห็นด้วยที่เปลี่ยนสีเหรียญ 2 บาทเป็นแบบใหม่ ป้องกันความสับสนกับเหรียญบาท ส่วนเหรียญ 5 บาทตอนนี้ประชาชนยังไม่เคยชิน แต่สักพักปัญหาต่างๆ จะหมดไป และเหรียญ 5 บาทเดิมก็จะเริ่มหมดไปจากตลาดด้วย

 "เหรียญ 5 บาทผลิตเกือบทุกปี ประมาณปีละ 30-100 ล้านเหรียญ คนที่สะสมจะเลือกรุ่นที่ผลิตน้อย เช่น เหรียญ 5 บาทปี 2546 ผลิตแค่ 182,000 เหรียญ สังเกตปีที่ผลิตได้จากตัวเลข พ.ศ.ที่ปั๊มอยู่ด้านหลังของเหรียญทุกอัน แม้หน้าเหรียญจะปั๊มราคาแค่ 5 บาท แต่ราคาที่นักสะสมซื้อคือเหรียญละ 50 บาท ซึ่งหาไม่ค่อยเจอแล้วเพราะผลิตน้อยมาก" จิราวุธ ระบุ

 ทั้งนี้ เว็บไซต์นักสะสมเหรียญหลายแห่ง ได้นำเหรียญกษาปณ์รุ่นต่างๆ มาประกาศขายกันอย่างคึกคัก โดยเหรียญ 5 บาทในปี 2546 มีการประกาศขายราคาเหรียญละ 150 บาท ส่วนเหรียญ 2 บาทบางรุ่นราคาสูงถึง 50 บาท

 เจ้าหน้าที่ศูนย์ฮอตไลน์ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ชี้แจงถึงกรณีที่ไม่สามารถใช้เหรียญ 5 บาทกับเครื่องซื้อตั๋วอัตโนมัติว่า ขณะนี้ศูนย์วิศวกรรมของบริษัทยืนยันว่า กำลังมีการปรับปรุงระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้เหรียญ 5 บาทซีรีส์ใหม่สามารถใช้ได้กับทุกเครื่องแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น